วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2565

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เร่งพัฒนาการแพทย์ด้วย Data Science

เปิดรับนักศึกษาใหม่ปี 2566  สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ 


ปัจจุบัน เราอยู่ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ในแต่ละวันจึงมีข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย  และอยู่ในรูปแบบของดิจิทัล ที่สามารถเข้าถึงได้หลากหลายช่องทาง สามารถรับรู้และค้นหาได้สะดวก รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลเส้นทางการเดินทางและสภาพการจราจร ข้อมูลรายการอาหาร ข้อมูลสถานพยาบาลข้อมูลการรักษาพยาบาล ข้อมูลเกี่ยวกับยารักษาโรคซึ่งจากปริมาณข้อมูลที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือมีทักษะเฉพาะอย่าง Data Scientist หรือ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล มาวิเคราะห์ข้อมูล ทำการต่อยอดความรู้จากแหล่งต่างๆ รวมถึงสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้มีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงเกิดประโยชน์สูงสุดต่อวงการทางการแพทย์


วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เล็งเห็นความสำคัญในประเด็นดังกล่าว จึงได้ร่วมกันเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ (Bachelor of Science in Health Data Science) ขึ้น โดยมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่เป็นเลิศในด้านการบูรณาการวิทยาศาสตร์ข้อมูลและวิทยาศาสตร์สุขภาพเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการร่วมแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยอย่างยั่งยืน


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.พีรุทย์ เชียรวิชัย ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพเปิดเผยว่า ปัจจุบันได้มีการเปิดหลักสูตรการพัฒนาการแพทย์ ด้วย Data Science รองรับความต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ซึ่งเป็นสาขาที่ใหม่และมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวอย่างรวดเร็วของข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ


โดยหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพนี้ เหมาะสำหรับนักเรียนที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและมีความสามารถทางด้านการใช้คอมพิวเตอร์ โดยบัณฑิตของหลักสูตรจะมีส่วนช่วยในการบริหาร จัดการ วิเคราะห์ฐานข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่ จากแหล่งต่างๆ และนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาทางการแพทย์ และการสาธารณสุข เพื่อตอบโจทย์ของทั้งการรักษาและการวิจัยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว  นอกจากนี้บัณฑิตจะถูกปลูกฝังด้วยค่านิยมที่ดี ทั้งการเสียสละต่อส่วนรวมความมุ่งมั่น ความซื่อสัตย์ เพื่อนำมาซึ่งประโยชน์ของผู้คนในสังคมด้วย



สำหรับ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ จะมีการเรียนทั้งที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญ จากผู้สอนอย่างใกล้ชิด ตลอดการเรียนในหลักสูตร 4 ปี ทั้งภาคทฤษฎี คือ การเรียนรู้พื้นฐานที่จำเป็นทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data science) เช่นการเขียนโปรแกรม สถิติ และระบบฐานข้อมูล ร่วมกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health science) เช่นระบบสุขภาพ การวินิจฉัยและอณูชีววิทยา และจะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำด้วยตัวเองในภาคปฏิบัติ รวมถึงฝึกงานกับสถานที่ประกอบการจริง นักศึกษาจะได้นำความรู้ทั้งสองด้านมาประยุกต์รวมกันให้เกิดเป็นความรู้ใหม่เพื่อนำไปประกอบวิชาชีพต่อไป  



ภายหลังจากจบหลักสูตรแล้ว  นักศึกษาสามารถศึกษาต่อได้ในสาขา วิศวกรรมข้อมูล วิทยาศาสตร์ข้อมูลและวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ ชีวสารสนเทศและชีววิทยาเชิงระบบระบาดวิทยา ซึ่งเป็นสาขาที่ได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ



อีกทั้งยังนำข้อมูลทางสุขภาพมาสร้างประโยชน์ในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูล ทำนายข้อมูล รวมไปถึงการสรุปข้อมูลออกมานำเสนอให้เข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ง่ายในชีวิตประจำวันสำหรับประชาชนทั่วไป รวมถึงสามารถที่จะต่อยอดงานวิจัยพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ออกมาเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ ยกระดับการดูแลสุขภาพและแก้ปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกลได้เป็นอย่างดี 


นอกจากนั้น นักศึกษาที่จบหลักสูตรยังสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ทั้งในโรงพยาบาลสถาบันวิจัย หน่วยงานของภาครัฐและเอกชน ซึ่งกำลังต้องการบุคลากรเป็นจำนวนมาก โดยมีอาชีพที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่นอาชีพดังต่อไปนี้


1.นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือวิศวกรข้อมูล (Data scientist/ Data engineer) มีหน้าที่ในการสร้างระบบฐานข้อมูลในการเก็บข้อมูล รวมไปถึงการดึงข้อมูลออกมาสร้างเป็นผลสรุปที่น่าสนใจและอธิบายเหตุการณ์ในอดีต รวมไปถึงทำนายเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตได้


2.นักชีวสารสนเทศ (Bioinformatician) มีหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับชีวสารสนเทศ เช่นข้อมูลทางพันธุกรรมหรือข้อมูลการแสดงออกของยีน เพื่อสร้างทฤษฎีใหม่ ๆ หรือระบุจุดที่น่าสนใจในการนำไปวิจัยต่อยอดเพิ่มเติม


3.นักวิจัย (Researcher) มีหน้าที่ศึกษาหาความรู้ในหัวข้อที่สนใจ โดยในปัจจุบัน มีหัวข้อวิจัยจำนวนมากที่ต้องการคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยคำนวณ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มีความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์และการเขียนโปรแกรมจึงสามารถเข้ามาช่วยด้านการวิจัยได้


ทั้งนี้ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ประจำปีการศึกษา 2566 โดยผู้ที่สนใจ สามารถติดตามรายและเอียดของหลักสูตรรายละเอียดการรับสมัคร หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-576-6000 ต่อ 8487, https://m.facebook.com/HealthDataSci และhttps://pscm.cra.ac.th 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น